ประเด็นร้อน
อีกครั้ง สินบนข้ามชาติ 'ญี่ปุ่น' จับ-สะเทือน 'ไทย'
โดย ACT โพสเมื่อ Jul 20,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ - -
เป็นเรื่องขึ้นมา เมื่อสื่อญี่ปุ่นออกมาเปิดเผยว่า สำนักงานสืบสวนพิเศษของอัยการกรุงโตเกียว กำลังสืบสวนบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ หรือ MHPS ในข้อหาละเมิดกฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยทางบริษัทได้จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ทางการไทย เพื่อแลกกับการชนะประมูลโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนในประเทศไทย โดยบริษัทบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรี ชนะการประมูลโครงการสร้างโรงไฟฟ้าในไทยเมื่อปี 2556 และถูกควบรวมเป็นบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ ในเวลาต่อมา
รายงานข่าวระบุว่าเจ้าหน้าที่ของบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ ได้ให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ทางการไทย ผ่านนายหน้ารายหนึ่งเป็นมูลค่ากว่า 60 ล้านเยน หรือราว 20 ล้านบาท การสืบสวนภายใน ของบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ของบริษัทประพฤติผิดจริง และได้ให้ข้อมูลกับพนักงานสืบสวน
ซึ่งตามกฎหมายของญี่ปุ่น กรณีนี้ มีโทษปรับสูงสุดถึง 300 ล้านเยน สำหรับบริษัทและพนักงานที่กระทำผิดมีโทษจำคุก 5 ปีหรือปรับ 5 ล้านเยน ตามกฎหมายญี่ปุ่นระบุว่า หากทางบริษัท จะให้ข้อมูลกับพนักงานสืบสวน ก็สามารถแลกกับการที่ทางบริษัทจะไม่ถูกดำเนินคดีหรือลดโทษได้
แม้รายงานข่าวยังไม่ระบุ ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ของไทยเป็นของหน่วยงานไหน แต่จากการประมวลคำเปิดเผยจากผู้ที่เกี่ยวข้องทำให้เราเริ่มปะติดปะต่อภาพได้...
"ศิริ จิระพงษ์พันธ์"รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กรณีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้า แต่เป็นขั้นตอน การนำเข้าอุปกรณ์บางอย่าง และขอเวลาตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าอุปกรณ์ที่นำเข้าเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหรือไม่ และโรงไฟฟ้าที่กล่าวอ้างอยู่ในภาคใต้ที่ทำสัญญาเมื่อ ส.ค.2556 หรือไม่ ขณะที่ วิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ "เอ็กโก" ก็ได้สั่งให้ตรวจสอบว่าเป็นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอมหรือไม่ และ พร้อมลงโทษหากมีเจ้าหน้าที่รับสินบนจริง
ทว่า "เอ็กโก" และ "กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน)" สอง บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าต่างก็ออกมาปฏิเสธ โดย "จักษ์กริช พิบูลย์ไพโรจน์"กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก ระบุ สั้นๆ ว่าบริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง นาทีนี้เรื่องจึงถูกโยนไปที่กรมเจ้าท่า ในฐานะควบคุมท่าเรือ ซึ่ง "จิรุตม์ วิศาลจิตร" อธิบดีกรมเจ้าท่า ยอมรับว่า เคยมีการติดต่อขอข้อมูล โดย ป.ป.ช. แต่ทิ้งท้ายว่าขณะนี้ท่าเรือที่ถูกระบุ เป็นของเอกชน ทำให้ขณะนี้เรื่อง ดูเหมือนจะตกลงไปที่"กรมเจ้าท่า" และถูกระบุว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ โรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 ที่เป็น บริษัทย่อยของ เอ็กโก ที่ถือหุ้นอยู่ 99%
เมื่อตรวจสอบช่วงเวลาดังกล่าว พบว่าเป็นสมัยรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" โดยมีรมว.พลังงานคือ "พงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล" อธิบดีกรมเจ้าท่าชื่อ "ศรศักดิ์ แสนสมบัติ" ปลัดกระทรวงคมนาคมคือ "พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี" และ รมว.คมนาคม ชื่อ"ชัชชาติ สิทธิพันธุ์"
เราจะสามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่ของเราได้ในระดับไหน เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการตั้งเรื่องสืบสวนการทุจริต รับสินบนของเจ้าหน้าที่ไทยจากต่างประเทศ
คดีที่รู้จักและจำกันได้ดีคือ คดีทุจริตรับสินบนการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ "บางกอกฟิล์ม เฟสติวัล" โดยเรื่องราว เริ่มขึ้นจากการคัดเลือกผู้จัดงานใช้การจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ แทนที่จะเป็น การประกวดราคา โดยในช่วงนั้น (2546-2549) มีผู้ว่าการการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ชื่อ "จุฑามาศ ศิริวรรณ" เป็นผู้รับผิดชอบ โดยเมื่อปี 2553 ศาลแคลิฟอร์เนียตัดสินว่าสองผู้บริหารบริษัทภาพยนตร์ชาวอเมริกัน ได้จ่ายสินบนให้แก่ "จุฑามาศ" เพื่อให้จ้างบริษัทของตนเป็นผู้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ผ่านการจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ 65 ล้านบาท และมีการระบุว่าโอนทรัพย์สินผ่านนางสาว จิตติโสภา ศิริวรรณ บุตรสาว
ทางการไทยจึงเข้ามาตรวจสอบและคดีนี้มีคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อปี 2560 ให้จำคุก "จุฑามาศ" 66 ปี และจำคุก "จิตติโสภา" 44 ปี ขณะนี้ อยู่ระหว่างการอุทธรณ์และทั้งสองก็กำลังถูกคุมขัง
ยังมีคดี "สินบนโรลส์รอยซ์" ที่สำนักสืบสวนการฉ้อฉลรุนแรงแห่งสหราชอาณาจักร (Serious Fraud Office - SFO) แสดงข้อมูลการจ่ายสินบนของบริษัทโรลส์รอยซ์ เพื่อการขายเครื่องยนต์ ใน 7 ประเทศ ซึ่งรวมถึง ประเทศไทยด้วย ซึ่งกรณีดังกล่าวโรลซ์รอยซ์ต้องจ่ายค่ายอมความ 2.8 หมื่นล้านบาท กับทางการอังกฤษ
โดยมีการระบุว่าจ่ายสินบน ผ่านนายหน้าให้เจ้าหน้าที่ไทย 3 ครั้ง ช่วงปี 2535 , 2540 และ 2548 ยังมีการจ่ายสินบน 385 ล้านบาทช่วยให้ชนะการประมูล 6 โครงการของ ปตท. ตั้งแต่ปี 2547-2556 โดยเรื่องดังกล่าวถูกเปิดโปงเมื่อต้นปี 2560
แต่จนถึงขณะนี้ในส่วนของ ป.ป.ช. เรื่องยังไม่เพียงอยู่ในชั้นอนุกรรมการไต่สวนเท่านั้น
อีกเรื่องฉาว "เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT-200" อังกฤษได้ตัดสินจำคุกนายแกรี โบลตัน เจ้าของบริษัทผู้ผลิต GT 200 ในความผิดฉ้อโกงเป็นเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2556 ส่วนในไทย ป.ป.ช. เพิ่งใชี้มูลความผิดการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด alpha 6 ซึ่งเป็นเครื่องพี่น้องกับ GT200 ไปเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา โดยชี้มูลเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น ส่วนสำนวนระดับผู้บริหารยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
ครั้งนี้มาดูกันว่าเมื่อ "ญี่ปุ่น" จับได้ ไทยจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป
#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน